ชุมชนชาวอีสานกลุ่มใหญ่ใต้สุดแดนสยาม

“คนอีสานในภาคอีสานขายข้าวซื้อทองคำ คนอีสานใต้สุดแดนสยามขายทองคำซื้อข้าว”

ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส ในอดีตเคยมีเหมืองแร่ทองคำที่บริเวณภูเขาโต๊ะโมะ แต่ถูกยกเลิกไปในที่สุด กระทั่งปี พ.ศ. 2506 รัฐบาลจัดตั้งนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้จังหวัดนราธิวาสขึ้น เพื่อให้โอกาสราษฎรที่ไร้ที่ดินทำกินจากถิ่นต่างๆเข้ามาอยู่อาศัย ประชากรส่วนใหญ่ที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำกินอยู่ในเขตนี้ คือชาวไทยอีสาน จึงไม่แปลกใจที่จะได้ยินคนส่วนใหญ่ที่นี่ ส่งสำเนียงภาษาอีสานอยู่ทั่วไป อีกทั้งทุกปี ในหมู่บ้านภูเขาทอง มีงานบุญบั้งไฟ อันเป็นประเพณีของชาวอีสาน แห่งเดียวในภาคใต้อีกด้วย

สำนักสงฆ์พระธาตุภูเขาทอง มี เจดีย์ภูเขาทอง สีทองอร่ามตั้งโดดเด่น เป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับประทานเนื่องมาจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เพื่อให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวและพึ่งทางจิตใจของชาวชุมชน ทางเข้าเป็นถนนลาดยางที่ทอดตัวยาวตามเนินเขา เป็นเส้นทางบิณฑบาตของพระสงฆ์ที่เดินเท้าเข้าไปยังชุมชนทุกเช้า

ชาวอีสานในหมู่บ้านภูเขาทองอยู่ร่วมกับคนในพื้นที่อย่างกลมเกลียวมาช้านาน แม้จะต่างภาษา ต่างศาสนากับผู้คนในชุมชนเดิม โดยเห็นได้ชัดเจนจากบรรยากาศยามเช้าหน้าโรงเรียนและหลังเลิกเรียน และตลาดชุมชน ที่ผู้คนพูดคุยกันอย่างสนิทสนม ทั้งพ่อแม่และลูกหลานที่เรียนโรงเรียนเดียวกัน หรือกระทั่งในลำคลองที่ชาวบ้านนัดหมายกันร่อนหาแร่ทองคำ

แร่ทองคำ
อาชีพเสริมของชาวบ้านภูเขาทอง คือ การร่อนทองในลำน้ำ แต่ละวัน ชาวบ้านนัดหมายกันไปร่อนทองตามจุดต่างๆของลำน้ำ เปลี่ยนจุดไปเรื่อยๆ ทุกเดือน
เมื่อร่อนทองเสร็จในแต่ละวัน ก็จะนำมาขายที่จุดรับซื้อในหมู่บ้าน
บางคนขายทองได้หลักร้อยต่อวัน บางวันโชคดีก็ได้ถึงหลักพัน
สอบถามพูดคุยก็ได้คำตอบว่า พอได้เงินซื้อข้าวซื้อของในแต่ละวัน
เปรยกันเล่นๆว่า
“คนอีสานในภาคอีสานขายข้าวซื้อทองคำ คนอีสานใต้สุดแดนสยามขายทองคำซื้อข้าว”

หาแร่ทองคำ

แร่ทองคำ

แม้ปัจจุบัน เหมืองทองคำได้ถูกยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังสามารถพบแร่ทองคำได้เรื่อยๆ ชาวบ้านที่นี่จึงมีอาชีพเสริม ร่อนทองคำในลำน้ำตามวิถีแห่งภูมิปัญญาพื้นบ้านเมื่อว่างเว้นจากการทำสวน ทำไร่และรับจ้างทั่วไป อุปกรณ์ร่อนทองของชาวบ้านที่นี่ เรียกกันว่า “ชะเลียง” หรือ “เลียง” มีรูปร่างคล้ายกระทะทำจากไม้ ขั้นตอนการร่อนทองเริ่มจากตักดินโคลนในคลองใส่ในเลียง แล้วค่อยๆ ร่อนเลียงกับผิวน้ำ จนเหลือแต่เศษแร่ทองคำ เก็บใส่ขวด เพื่อนำไปขายในแต่ละวัน

ในหมู่บ้านมีร้านค้าขนาดเล็ก ตั้งโต๊ะรับซื้อทองคำอยู่ 2-3 แห่ง ชาวบ้านบางคนขายทองได้หลักร้อยต่อวัน บางวันโชคดีก็ได้หลักพัน นับเป็นอาชีพเสริมที่รายได้ดีทีเดียว

ที่ตำบลภูเขาทอง ยังมีโรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกาเปาะ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญแห่งหนึ่งในชุมชน เป็นหนึ่งความภูมิใจที่ชาวบ้านมักบอกกล่าวชักชวนให้ไปเที่ยวชม อีกทั้งที่นี่ยังมีน้ำตกขนาดเล็ก มีแอ่งน้ำให้เด็กๆในชุมชนไปเล่นน้ำกันได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยมีห่วงยางและเจ้าหน้าที่ในโรงไฟฟ้าดูแลเป็นอย่างดี

อีกแห่งหนึ่งที่น่าสนใจ สะท้อนการเปิดรับความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม ก็คือ ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ ที่มีคนเชื้อสายจีน ทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซีย เดินทางมาสักการะบูชาและประกอบพิธีทางศาสนาที่นี่อยู่เสมอ

#ใต้สุดอยู่ไม่ไกล
#ใต้ธงไทยเดียวกัน
#นราธิวาส
#บ้านภูเขาทอง #ร่อนทอง #สุคิริน
#โรงไฟฟ้าพลังน้ำไอกาเปาะ
#ศาลเจ้าแม่โต๊ะโมะ

Related Post